วันพฤหัสบดีที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

"หล่มสัก" ดินแดนต้องมนต์ของขุนเขา


คำขวัญอำเภอหล่มสัก
        ถิ่นพ่อขุนผาเมือง   ลือเลื่องมะขามหวาน  ที่ตั้งศาลหลักเมืองนครบาล
                        น้ำตกธารทิพย์มนต์ขลัง ท้องพระคลังถ้ำสมบัติ






                            สถานที่ตั้งอำเภอหล่มสัก

อำเภอหล่มสัก ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของจังหวัดเพชรบูรณ์ ส่วนใหญ่ภูมิประเทศจะเป็นพื้นที่ราบลุ่มที่ล้อมรอบด้วยภูเขา สูงจากระดับทะเล ประมาณ 114 เมตร อยู่ห่างกรุงเทพ 346 ก.ม. ตามทางหลวงหมายเลข 21






สถานที่ท่องเที่ยว

สถานที่ท่องเที่ยวของอำเภอหล่มสักส่วนใหญ่จะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเกี่ยวกับธรรมชาติ และเกี่ยวกับประวัติศาสตร์เพราะ เมืองหล่มสักเป็นเมืองที่มีลักษณะภูมิประเทศที่ล้อมรอบโดยภูเขาน้อยใหญ่ และมีประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับกษัตย์ในต้นยุคสมัยสุโขทัย จึงกล่าวได้ว่าเมืองหล่มสักมีสาถนที่ท่องเที่ยวที่เหมาะให้กับนักท่องเที่ยวมาค้นหาอย่ามาก 



1. อนุสาวรีย์พ่อขุนผาเมือง 


ตั้งอยู่บริเวณสี่แยกพ่อขุนผาเมือง (สี่แยกหล่มสัก) บ้านน้ำชุน อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ ห่างจากที่ว่าการอำเภอหล่มสัก ประมาณ 3 กิโลเมตร พระรูปทำด้วยโลหะ ประดิษฐานในอิริยาบทยืน พระหัตถ์ขวาทรงดาบปักดิน พระหัตถ์ซ้ายชี้ลงพื้น เป็นที่เคารพสักการะ ของชาวเพชรบูรณ์ และผู้ที่เดินทางผ่านไปมา ในเส้นทางดังกล่าวเป็นอย่างยิ่ง

ประวัติพ่อขุนผาเมือง
พ่อขุนผาเมือง วีระกษัตริย์ที่ชาวไทยทุกคน โดยเฉพาะชาวจังหวัดเพชรบูรณ์เคารพสักการะ เพื่อระลึกถึงเกียรติคุณความดีวีระกรรม ความกล้าหาญ ความเสียสละ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการสถาปนาอาณาจักร สุโขทัยร่วมกับพ่อขุนบางกลางหาว จากศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ 2 (จารึกวัดศรีชุม) ระบุว่า บรรพบุรุษของพ่อขุนผาเมืองคือ พ่อขุนศรีนาวนำถม ซึ่งครอบครองเมืองสุโขทัย และศรีสัชนาลัย มีโอรสและธิดา 2 องค์ คือ พ่อขุนผาเมือง และนางเสือง ส่วนบรรพบุรุษของขุนบางกลางหาว ทราบแต่เพียงว่าครองเมืองบางยาง
ต่อมาพ่อขุนศรีนาวนำถม จึงยกนางเสืองให้อภิเษกสมรสกับพ่อขุนบางกลางหาว ฉะนั้นความสัมพันธ์ระหว่างพ่อขุนผาเมือง กับพ่อขุน บางกลางหาวนอกจากจะเป็นเพื่อนสนิทกันแล้ว ยังเกี่ยวดองเป็นญาติกันอีกด้วย
เมื่อพ่อขุนศรีนาวนำถมสิ้นพระชนม์แล้ว ขอมสบาดโขลญลำพง เชื่อว่าเป็นขุนนางเขมร ที่ถูกส่งมาดูแลศาสนสถาน ประจำเมืองสุโขทัย เข้ายึดเมืองสุโขทัย แล้วตั้งตนเป็นกษัตริย์ ครั้งนั้นพ่อขุนผาเมืองเจ้าเมืองราด ซึ่งเป็นโอรสองค์โตของพ่อขุนศรีนาวนำถม ได้ร่วมมือ กับพระสหาย คือ พ่อขุนบางกลางหาวเจ้าเมืองบางยาง เข้าตียึดเมืองสุโขทัย และขับไล่ขอมสบาดโขลญลำพง โดยที่พ่อขุนผาเมืองเป็นทัพ หนุนให้พ่อขุนบางกลางหาว แต่เมื่อพ่อขุนบางกลางหาวจะเสียที จึงร้องขอให้พ่อขุนผาเมือง มาช่วยตีกระหนาบขอม สบาดโขลญลำพง จนพ่ายแพ้ไป
เมื่อขับไล่ขอมสบาดโขลญลำพงออกไปแล้ว พ่อขุนผาเมือง จึงอัญเชิญพ่อขุนบางกลางหาวเข้าครองเมืองสุโขทัย โดยสถาปนา พ่อขุนบางกลางหาว ครองเมืองสุโขทัย พร้อมมอบพระขรรค์ชัยศรี และพระนามพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ เป็นปฐมบรมกษัตริย์ ราชวงศ์พระร่วงที่ครอง เมืองสุโขทัยสืบมา เมื่อเสร็จศึกกับขอมสบาดโขลญลำพงแล้ว พ่อขุนผาเมืองได้อภิเษกกับนางสิงขรมหาเทวี พระราชธิดาของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 กษัตริย์ขอมที่ครองกรุงยโสธรนครธม
นักประวัติศาสตร์บางท่านให้ข้อสันนิษฐาน ที่น่าเป็นไปได้ว่าสาเหตุที่พ่อขุนผาเมืองไปยอมปกครองเมืองสุโขทัย อาจเป็นเพราะคนไทย ต้องการหลุดพ้นจากอำนาจขอม ประกอบกับพ่อขุนผาเมืองมีฐานะเป็นลูกเขยของกษัตริย์ขอม จึงจำเป็นหลีกทางให้พ่อขุนบางกลางหาว และเหตุผลอีกประการหนึ่งน่าจะเป็นเพราะว่าเมืองราดนั้น อาจจะเป็นเมืองที่อยู่ใกล้กับเขตอิทธิพลขอม พ่อขุนผาเมืองจึงจำเป็นต้อง กลับมาเมืองราด เพื่อป้องกันการรุกรานจากขอม หลังจากนั้นเรื่องราวของพ่อขุนผาเมืองก็เลือนไปจากบันทึก ประวัติศาสตร์
ข้อสันนิษฐานว่าเมืองราดอยู่ที่ใดนั้น ยังไม่มีหลักฐานและหาข้อสรุปได้ นักวิชาการบางท่านได้ให้ความเห็นว่า เมืองราดน่าจะอยู่ บริเวณลุ่มน้ำป่าสัก มากกว่าบริเวณอื่น ด้วยเหตุผลหลายประการ เช่น จากศิลาจารึกหลักที่ 2 ได้ระบุว่าพ่อขุนบางกลางหาว กับพ่อขุนผาเมืองได้ ปรึกษาหารือร่วมกันในการเข้าตียึดเมืองสุโขทัย ซึ่งควรที่จะมีการติดต่อสื่อสารกันบ่อย ๆ ฉะนั้นเมืองราด และเมืองบางยางไม่ควรจะอยู่ห่างกันมากนัก และจากข้อความในศิลาจารึกก็ได้ระบุว่า กองทัพของพ่อขุนทั้งสองได้แยกกันเข้าตีเมืองสุโขทัย โดยที่พ่อขุนบางกลางหาวเขาตีทางด้านทิศเหนือ และยึดเมืองศรีสัชนาลัยไว้ได้ ส่วนพ่อขุนผาเมืองบุกเข้าตีทางด้านใต้เมืองสุโขทัย โดยยกผ่านเมืองบางขลง (สันนิษฐานว่าอยู่บริเวณเมืองนครสวรรค์) ก็ยิ่งทำให้น่าเชื่อว่าเมืองราดอยู่บริเวณลุ่มน้ำป่าสัก แต่คงไม่ใช่เมืองศรีเทพ เพราะหลักฐานทางโบราณคดีที่ค้นพบไม่สอดคล้องกัน



2.น้ำตกธารทิพย์


วนอุทยานน้ำตกธานทิพย์ ตั้งอยู่ตำบลบุ่งน้ำเต้า อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์
"น้ำตกธารทิพย์" หรือชื่อเรียกอีกนัยหนึ่งว่า "น้ำตกหมูบูด" เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ ที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป และชาวเพชรบูรณ์ โดยเฉพาะสภาพตัวน้ำตก เป็นน้ำตกชั้นเดียว สูงประมาณ 26 เมตร กว้างราว 30 เมตร มีน้ำไหลตลอดทั้งปี สวยงามตระการตา และยังเป็น ต้นน้ำของห้วยน้ำคล้าอีกด้วย นอกจากนี้ยังทำให้เกิดธารน้ำไหล จนกลายเป็นน้ำตก ชั้นเล็กๆ ลดหลั่นไป ตลอดสาย ขณะเดียวกันตามลำธารดังกล่าว ยังเต็มไปด้วย ตาดน้ำ แก่งหิน ลดหลั่นกันไปเป็นระยะทางกว่า 2 กิโลเมตร จนแลดูสวยงาม และเต็มไปด้วยบรรยากาศ ของกลิ่นไอธรรมชาติ ที่ร่มรื่น โดยชื่อ "น้ำตกธารทิพย์" นั้น ถูกตั้งขึ้นตามชื่อ หมู่บ้านธารทิพย์ โดยแต่ก่อนนั้น หมู่บ้านแห่งนี้มีชื่อเรียกว่า บ้านหมูบูด ส่วนสาเหตุที่มีชื่อเรียกเช่นนี้ก็ จากที่มีเรื่องเล่าว่า มีหญิงสาวของ หมู่บ้านนี้ แต่งงานกับ หนุ่มบ้านอื่น โดยมีการเตรียม จัดงานเลี้ยงรื่นเริงกัน และมีการฆ่าหมูฆ่าไก่มา เตรียมทำอาหารรับประทานกัน แต่ปรากฎว่าสาวบ้านนี้ รอเท่าไหร่ หนุ่มก็ไม่มากระทั่งเวลา ผ่านเลยไปจนหมูที่เตรียมไว้ทำอาหารเกิด อาการบูดเสียขึ้น จนกลายเป็นที่มาของชื่อ หมู่บ้านและน้ำตกแห่งนี้
ต่อมาภายหลังได้มีการ เปลี่ยนชื่อหมู่บ้านใหม่ ทำให้ชื่อน้ำตกพลอยได้รับการเปลี่ยนตามไปด้วย กระทั่งปี 2537 นายปัญญา บุญสมบูรณ์ ป่าไม้จังหวัดเพชรบูรณ์ ได้จัดส่งเจ้าหน้าที่ไปทำการ สำรวจเบื้องต้น และรายงานให้ ทางกรมป่าไม้ทราบ จนเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2538 กรมป่าไม้ อนุมัติให้จัดตั้งเป็น "วนอุทยานน้ำตกธารทิพย์" โดยมีพื้นที่ ครอบคลุม ประมาณ 8,750 ไร่ หรือ 12 ตารางกิโลเมตร
ความโดดเด่นของ น้ำตกธารทิพย์นั้น นอกจากจะเป็นน้ำตกขนาดใหญ่ แล้วสภาพโดยรอบ น้ำตกยังเต็มไปด้วย ป่าไม้นานาพรรณทั้ง ป่าเต็งรังและป่าดิบแล้ง ขณะเดียวกันสภาพป่า ยังมีความอุดมสมบูรณ์ ค่อนข้างมาก สำหรับเส้นทางเดินเท้าเข้าไปยังน้ำตกธารทิพย์นั้น จากป้อมเจ้าหน้าที่ วนอุทยานฯไปถึงตัวน้ำตกมีระยะทางยาว 1.2 กิโลเมตร และตลอดเส้นทางจะมีจุด ให้ศึกษาธรรมชาติ และระบบนิเวศน์โดยตลอด ส่วนสายน้ำที่ไหลตกจากหน้าผา จนทำให้กลายเป็นน้ำตกนั้น เนื่องจากเป็นน้ำที่เกิดจากน้ำผุด จึงทำให้มีน้ำไหล ต่อเนื่องกันตลอดทั้งปี โดยเฉพาะแอ่งน้ำใต้ น้ำตกนั้นมีสภาพไม่ลึกจัด ทั้งที่เป็นแอ่งใหญ่ มีหาดทราย ทำให้ผู้ที่เดินทางไปเยือนมัก จะอดไม่ได้ที่ต้องลงไปสัมผัส กับสายน้ำที่เยือกเย็นของน้ำตกแห่งนี้
นอกจากนี้มีน้ำตกอื่นเป็นองค์ประกอบ สำคัญประกอบน้ำตกขั้นบันได ซึ่งเป็นน้ำตกที่สวยงามไม่แพ้กัน เนื่องจากสายน้ำที่ไหล ตกกระทบกับแก่งหิน ในลักษณะที่เป็นขั้นบันได จำนวนกว่า 10 ขั้น ทำให้น้ำตกขั้นบันไดเป็นน้ำตก ที่ได้รับความสนใจ จากนักท่องเที่ยวไม่แพ้กัน โดยเส้นทางไปน้ำตกขั้นบันได จะมีเส้นทางเดินเท้าแยกจากเส้นทางไปน้ำตกธารทิพย์ ระยะทางราว 400 เมตร แต่ทางขึ้นจะค่อนข้างลำบาก เพราะทางลาดชัน แต่ก็เป็นสิ่งที่ท้าทายบรรดานักท่องเที่ยว ห่างจากที่ทำการวนอุทยานราว 5 กิโลเมตร


3.สะพานพ่อขุนผาเมือง (สะพานห้วยตอง)



สะพานพ่อขุนผาเมืองเป็นการก่อสร้าง เพื่อเชื่อมภาคเหนือกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือเข้าด้วยกัน
มีระยะทาง 103.4 กม. ใช้เวลาก่อสร้างรวม 6 ปี เป็นทางมาตรฐานลาดยางตลอด
โดยมีผิวลาดยางกว้าง 7.00 ม. ไหล่ทางกว้างข้างละ 1.50 ม. เส้นทางสายนี้
มีสิ่งที่น่าสนใจ เช่น เป็นเส้นทางที่ผ่านอุทยานแห่งชาติน้ำหนาว ที่ กม. 50 มีสะพานคอนกรีต
เสริมเหล็กที่ตอม่อสูงสุดในประเทศไทย  สูงถึง 50 ม. ที่ กม.18+500
คือ สะพานข้ามห้วยตอง และได้รับการตั้งชื่อเป็นทางการว่า “สะพานพ่อขุนผาเมือง”
และเป็นเส้นทางที่ต้องใช้เครื่องจักรหนักเป็นจำนวนมาก เพื่อตัดเขาเป็นงานดินถึง
4.0 ล้าน ลบ.ม. และต้องทำ การระเบิดหินอีก 4.5 ล้านลบ.ม นับว่ามีปริมาณมาก
เมื่อเทียบกับความยาวของระยะทางเพราะต้องทำการก่อสร้าง ที่ตัดภูเขาสูงชัน
และสลับซับซ้อนมาก




4.อนุสรณ์สถานเมืองราดพ่อขุนผาเมือง


อนุสรณ์สถานเมืองราด ตั้งอยู่ที่บ้านห้วยโป่ง หมู่ที่ 1 ตำบลบ้านหวาย อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ มีเนื้อที่ประมาณ 8 ไร่อนุสรณ์สถานเมืองราด? แห่งนี้จัดตั้งขึ้นเพื่อเผยแพร่เกียรติประวัติของ พ่อขุนผาเมือง (ผู้สร้างเมืองราด ปัจจุบันคือ พื้นที่ใน ต. บ้านหวาย อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์) ให้ประชาชนได้ศึกษาเนื่องจากในประวัติศาสตร์มีการจดบันทึก เรื่องราว วีรกรรมของพ่อขุนผาเมืองเอาไว้ไม่มากนัก สำหรับอนุสรณ์สถาน เมืองราดแห่งนี้ จะแบ่งออกเป็น2 ส่วนคือ ด้านหน้าของอนุสรณ์สถานเมืองราด ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานรูปปั้นของพ่อขุนผาเมืองในท่ายืน มือข้างซ้ายชี้นิ้วลงยัง แผ่นดิน อันหมายถึง แผ่นดินตรงนี้คือบ้านเกิดของท่านล้อมรอบด้วยเสาสูง 5 ต้นอยู่ เสา 5 ต้นที่ว่านี้ หมายความถึง พระพุทธเจ้า 5 พระองค์ โดยรอบของ ฐานของรูปปั้นพ่อขุนผาเมืองทั้ง 4 ทิศนั้น จะเป็นเรื่องราวโดยย่อของ พ่อขุนผาเมือง เช่น พระราชประวัติ เหตุผลที่ไม่ยอมขึ้นครองราชย์ เป็นต้น




การเดินทางมายังอำเภอหล่มสัก 



การเดินทางโดยรถยนต์ จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข ๑ ถึงจังหวัดสระบุรีเลยไปจนถึงสวนพฤกษศาสตร์พุแค ตรงกิโลเมตรที่ ๑๒๕ แยกขวามือเข้าทางหลวงหมายเลข ๒๑ ผ่านอำเภอชัยบาดาล อำเภอศรีเทพ อำเภอวิเชียรบุรี ต่อไปอีกประมาณ ๒๒๑ กิโลเมตร ถึงจังหวัดเพชรบูรณ์ และต่อมาอีก 51 กิโลเมตร ก็ถึงตัวเมืองหล่มสัก รวมระยะทางประมาณ ๓๙๖ กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ ๖ ชั่วโมง

รถโดยสารประจำทาง การเดินทางมีบริการ 2 บริษัทคือ บริษัท ขนส่ง จำกัด และ บริษัท เพชรประเสริฐ จำกัด โดยมีการเดินรถทุก 1 - 2 ชั่วโมงตลอด 24 ซม. มีการบริการทั้งรถปรับอากาศVIP ปรับอากาศชั้น 1 ชั้น2 โดยมีการเดินทาง 6 ชั่วโมง ถึง 6ชั่วโมงครึ่ง


ที่พักแรมในอำเภอหล่มสัก

มีโรงแรมอยู่ 2  1.โรงแรมหล่มสัก ณัฐติรัตน์ แกรนด์ โฮเต็ล 2.โรงแรมสว่างโฮเต็ล  ที่พักแรมส่วนใหญ่จะเป็นรีสอร์ทขนาดกลางถึงขนาดเล็กเป็นส่วนใหญ่เพื่อนปรับให้เข้ากับภูมิประเทศ 

สินค้าเศรษฐกิจ
อำเภอหล่มสักจะมีสินค้าที่ขึ้นชื่อมาก นอกจากมะขามหวาน นั้นก็คือ ใบยาสูบ และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นสินค้าที่ทำรายได้มหาศาลเข้าชุมชนอย่างมาก



อาหารและของฝากเมืองหล่มสัก


อาหารที่นักท่องเที่ยวหลายคนหรือเกลือบทุกคนที่มาเที่ยวหล่มสักแล้วต้องทานคือขนมจีน 7 สีเส้นสดน้ำยาสมุนไพรที่มีหลายร้านให้เลือกรับประทานอย่างตามใจกัน และของฝากที่ทุกคนต้องซื้อกลับบ้านคือ มะขามหวานหล่มสัก ที่มีทั้งมะขามแปลรูปต่างๆให้เลือกซื้อกันอีกมากมาย 







จากข้อมูลข้างต้นยังการันตีไม่ได้ว่า "เมืองหล่มสัก" เป็นเมืองต้องมนต์ของใครหลายๆคนไม่ได้ ถ้าคนๆนั้นยังไม่ได้มาสัมผัส สภาพแวดล้อม และอาหารอันเริศรสของเมืองเล็กๆที่เขาเรียกกันว่า "เมืองหล่มฯ"



ขอคุณแหล่งอ้างอิงทั้งหมด



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น